การควบกิจการ (Business Combination) เพื่อขยายขอบเขตธุรกิจ

การควบกิจการเป็นอีกประเด็นสำคัญในวงการธุรกิจและการลงทุน ซึ่งเป็นกระบวนการรวมกิจการระหว่างบริษัทสองแห่งหรือมากกว่า เพื่อสร้างองค์กรธุรกิจใหม่ที่ใหญ่และแข็งแกร่งขึ้น มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุน และขยายฐานลูกค้า

การควบกิจการคืออะไร ?

การควบรวมกิจการ (Business Combination) หรือการควบรวมธุรกิจ หมายถึงกระบวนการทางกลยุทธ์ที่องค์กรธุรกิจสองแห่งหรือมากกว่าตัดสินใจรวมกันเพื่อดำเนินกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มกำไรในระยะยาว

รูปแบบของการควบกิจการ

การควบกิจการสามารถจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ ตามลักษณะความสัมพันธ์ของธุรกิจที่รวมกัน ดังนี้

  1. การรวมธุรกิจแบบแนวนอน (Horizontal Integration) เป็นการรวมกิจการระหว่างบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันและเป็นคู่แข่งทางตรง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ลดการแข่งขัน และประหยัดต้นทุน 
    • เช่น การควบรวมกิจการระหว่าง True และ DTAC และธนาคารธนชาติเข้าซื้อธนาคารนครหลวงไทย

  2. การรวมธุรกิจแบบแนวตั้ง (Vertical Integration) เป็นการรวมกิจการระหว่างบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานเดียวกัน โดยอาจเป็นการรวมกันของผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ค้าปลีก เพื่อควบคุมกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน 
    • เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีบริษัทย่อยตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ โรงงานแปรรูป จนถึงการจัดจำหน่ายสินค้าถึงผู้บริโภคผ่านร้านค้าปลีกของตนเองคือ 7-ELEVEN

  3. การรวมธุรกิจแบบผสม (Conglomerate Integration) เป็นการรวมกิจการระหว่างบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางธุรกิจ เพื่อกระจายความเสี่ยง สร้างโอกาสในการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ และใช้ประโยชน์จากการบริหารทรัพยากรร่วมกัน 

ตัวอย่างเช่น บริษัทกลุ่มเซ็นทรัลที่มีธุรกิจหลายประเภท เช่น กลุ่มธุรกิจค้าปลีก (CRC) กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (CPN) กลุ่มธุรกิจอาหาร (CRG) กลุ่มธุรกิจโรงแรม (CHR) เป็นต้น

วิธีการควบรวมกิจการ

  • การได้มาซึ่งหุ้น (Share Acquisition) เป็นการที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้อหุ้นของอีกบริษัทหนึ่ง จนถึงระดับที่สามารถควบคุมการดำเนินงานได้ (มากกว่า 50%) แต่บริษัทที่ถูกซื้อหุ้นก็จะยังคงดำรงสภาพนิติบุคคลของตนเองต่อไป

  • การได้มาซึ่งสินทรัพย์หรือธุรกิจของบริษัท (Assets Acquisition) บริษัทหนึ่งเข้าซื้อสินทรัพย์บางส่วนหรือทั้งหมดจากอีกบริษัทหนึ่ง แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นบริษัทในเครือ โดยแยกเป็น 2 กรณี
    • ผู้โอนอาจจดทะเบียนเลิกกิจการ หรืออาจประกอบกิจการอย่างอื่นใหม่ก็ได้ หลังจากโอนสินทรัพย์หรือธุรกิจบางส่วนให้แก่ผู้รับโอนแล้ว
    • ผู้โอนอาจเป็นผู้ถือหุ้นของผู้รับโอน หรือไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กันก็ได้

  • การโอนกิจการทั้งหมด (EBT) และการโอนกิจการบางส่วน (PBT)
    • การโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) คือการโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทหนึ่งไปยังอีกบริษัทหนึ่ง เช่น บริษัท A ตัดสินใจโอนกิจการทั้งหมดให้กับบริษัท B ทำให้บริษัท A สิ้นสภาพทางกฎหมายหลังจากการโอน
    • การโอนกิจการบางส่วน (Partial Business Transfer)
      การโอนเพียงบางส่วนของทรัพย์สิน หนี้สิน และหน้าที่ของกิจการจากบริษัทผู้โอนไปยังบริษัทผู้รับโอน โดยบริษัทผู้โอนจะยังคงดำเนินกิจการต่อไป

การควบบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (Amalgamation)
เป็นการควบรวมบริษัทสองแห่งเข้าด้วยกัน โดยบริษัทหนึ่งจะสิ้นสภาพและเกิดเป็นบริษัทที่จดทะเบียนขึ้นใหม่ เช่น บริษัท A + บริษัท B = บริษัท C

สรุป

การควบกิจการ (Business Combination) คือกระบวนการรวมกิจการระหว่างบริษัทสองแห่งหรือมากกว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขยายส่วนแบ่งทางการตลาด ลดต้นทุนการดำเนินงาน และเพิ่มกำไรในระยะยาว แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง เช่น ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ต้นทุนการบริหารจัดการที่สูง และความล้มเหลวในการสร้างมูลค่าเพิ่ม

แหล่งอ้างอิง

รองเอก วรรณพฤกษ์. 2558. “การรวมธุรกิจ.” วารสารวิชาการศรีปทุม ชลบุรี, ปีที่ 11 ฉบับที่ 4 เมษายน-มิถุนายน 2558, 49-59.

Basic Structures in Mergers and Acquisitions (M&A): Different Ways to Acquire a Small Business (genesislawfirm.com)

Mergers and Acquisitions (M&A) (Pitchdrive.com)

Why Do Companies Merge With or Acquire Other Companies? (Investopedia.com)

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.