การทำธุรกิจมีความซับซ้อนและการแข่งขันที่สูง ความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน การตรวจสอบบัญชี (Auditing) จึงเป็นกลไกหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการให้ความเชื่อมั่นว่าข้อมูลทางการเงินขององค์กรนั้นถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
การตรวจสอบบัญชีคืออะไร?
การตรวจสอบบัญชี หมายถึงกระบวนการที่ผู้ตรวจสอบบัญชี (Auditor) ทำการประเมินและวิเคราะห์ เพื่อให้ได้หลักฐานเกี่ยวกับข้อมูล กิจกรรมทางการเงินและการบัญชีขององค์กร โดยผู้ตรวจสอบบัญชีจะต้องประเมินว่างบการเงินขององค์กรนั้นได้แสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดอย่างถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่
ความสำคัญของการตรวจสอบบัญชี
- เพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลทางการเงิน ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน
- สนับสนุนให้องค์กรมีระบบควบคุมภายในที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
- ช่วยตรวจสอบและป้องกันการทุจริต รวมถึงข้อผิดพลาดทางบัญชี
- สร้างความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการระดมทุนหรือการลงทุน
ประเภทของการตรวจสอบบัญชี
การตรวจสอบบัญชีแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามวัตถุประสงค์ ขอบเขต และขั้นตอนของวิธีการตรวจสอบ ในบทความนี้ เราจะยกตัวอย่างประเภทการตรวจสอบหลักๆ 3 ประเภท ดังนี้
การตรวจสอบภายใน (Internal Audits)
- ดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditors)
- เพื่อปรับปรุงระบบควบคุมภายใน กระบวนการปฏิบัติงาน และการบริหารความเสี่ยงขององค์กร
การตรวจสอบภายนอก (External Audits)
- เป็นการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกหรือบุคคลที่สาม เช่น ผู้สอบบัญชีภาษีอากร หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไป
- มีวัตถุประสงค์หลักในการตรวจสอบงบการเงินประจำปีขององค์กร ว่ามีความถูกต้องไหม
- มีความเป็นกลาง ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส
Tax Audits (การตรวจสอบภาษี)
- ตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพากร
- ตรวจสอบความถูกต้องของการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบด้านภาษี
ประเภทของการตรวจสอบบัญชีอื่นๆเพิ่มเติม
ใครคือผู้มาตรวจสอบบัญชี ?
1.ผู้สอบบัญชีภาษีอากร
- เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของการคำนวณและการนำส่งภาษีของบริษัทหรือองค์กร
- สำหรับกิจการที่เป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็กหรือกิจการที่มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท
2. ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
- เป็นผู้สอบบัญชีภายนอกที่มีต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีฯ
- ทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินประจำปี และสามารถให้คำปรึกษาด้านบัญชี ภาษี และการจัดการทางการเงินแก่องค์กรได้
- สำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคลทุกประเภททั้งรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
สรุป
การตรวจสอบบัญชีเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสทางการเงินให้กับองค์กร โดยผู้ตรวจสอบบัญชีจะทำการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินและบัญชีขององค์กร เพื่อให้ได้หลักฐานว่างบการเงินนั้นถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการทุจริต และสนับสนุนให้องค์กรปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
แหล่งที่มาอ้างอิง
การตรวจสอบบัญชีมีกี่ประเภท (connectacc.co.th)
Audit: What It Means in Finance and Accounting, and 3 Main Types (investopedia.com)
Auditing (corporatefinanceinstitute.com)